วิธีตรวจ ATK ด้วยตนเอง

1032 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีตรวจ ATK ด้วยตนเอง

ชุดตรวจ ATK คืออะไร

Antigen test kit หรือ ATK คือชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถทดสอบได้ในเบื้องต้น เหมาะกับผู้ที่สงสัยหรือไม่แสดงอาการติดเชื้อ การทดสอบใช้เวลาไม่นานรอผลเพียง 15-30 นาที ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้จากสถานพยาบาล หรือรับฟรีจากรัฐบาลตามนโยบาย กรณีทำการซื้อต้องตรวจสอบการรองรับและ อย. เพื่อให้ได้ชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐาน ปกติแล้วจะแบ่งชุดตรวจ ATK ออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ATK Home use : เป็นชุดตรวจที่สามารถใช้ได้เองตามขั้นตอนจากคู่มือการใช้ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อ การใช้งานต้องเน้นยำเรื่องความสะอาดเพื่อให้ได้ผลตรวจที่ถูกต้อง
  • ATK Professional use : เป็นชุดตรวจที่ไม่สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใช้ตรวจให้เท่านั้น เนื่องจากไม้ swab จะยาวกว่า และมีปริมาณการบรรจุน้ำยาที่มากกว่า
     

ชุดตรวจ ATK มีความแม่นยำแค่ไหน
การใช้ชุดตรวจ ATK สำหรับใช้เอง (Home use) มีความแม่นยำในระดับเบื้องต้น ซึ่งหากติดเชื้อมาไม่นาน ทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีไม่มาก อาจตรวจไม่พบทำให้ผลออกมาเป็นลบได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีความเสี่ยงสูงควรทำการตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรกไปแล้ว 3-5 วัน อย่างไรก็ตามการตรวจที่แม่นยำที่สุดคือการตรวจแบบ RT-PCR ที่สามารถหาเชื้อได้แม้ยังมีเชื้อน้อย จึงควรตรวจด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง

การใช้งานชุดตรวจ ATK

ก่อนการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ให้ทำการล้างมือ และเช็ดโต๊ะที่ใช้วางชุดตรวจ ควรให้สวมถุงมือขณะทำการทดสอบ ทำการตรวจสอบวันหมดอายุ และอุปกรณ์ชุดตรวจ ได้แก่ คู่มือ ประกอบการใช้งานตลับทดสอบ หลอดน้ำยาสกัดเชื้อ ฝาจุก และก้านเก็บตัวอย่าง ต่อจากนั้นให้เริ่มทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • เปิดซองก้าน swab (ห้ามสัมผัสปลายสำลี และไม้จุ่มหรือของเหลวก่อนเก็บตัวอย่าง)
  • ทำการสอดก้าน swab ในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง หมุนก้าน 5-10 รอบ 10-15 วินาทีรอบ (ความลึกในการสอดตามคู่มือ) 
  • จุ่มก้านที่เก็บตัวอย่างแล้วลงในหลอดน้ำยาสกัดเชื้อ หมุนก้านเก็บตัวอย่าง  5-10 ครั้ง
  • นำหลอดดูดน้ำยาหยดลงช่องประมาณ 2-3 หยด และรอผลประมาณ 15-30 นาที

ขั้นตอนการใช้ชุดตรวจ ATK ตามที่กล่าวไปนั้นเป็นขั้นตอนเบื้องต้น ความแตกต่างอาจมีตามยี่ห้อ ดังนั้นต้องศึกษาวิธีการใช้งานข้างกล่องอย่างละเอียด

การอ่านผลตรวจของชุดตรวจ ATK

  • ผลลบ (Negative) : แถบสีปรากฏเฉพาะตำแหน่ง C
  • ผลบวก (Positive) : แถบสีปรากฏทั้งตำแหน่ง C และ T เป็น 2 ขีด

กรณีไม่ปรากฏแถบ C หมายถึงชุดตรวจอาจมีปัญหา ใช้งานไม่ได้ควรตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง หากผลตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) ควรตรวจด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันตามขั้นตอน หากมีผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ควรทดสอบด้วยชุดตรวจ ATK อีกครั้งใน 3-5 วัน หากมีความเสี่ยงสูงควรตรวจยืนยันด้วย RT-PCR

ข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจ ATK

  • ชุดตรวจ ATK ต้องได้รับการลงทะเบียนจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
  • หากมีอาการเสี่ยงติดเชื้อควรตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันมากกว่าใช้ชุดตรวจ ATK
  • หากน้ำยาสกัดเชื้อกระเด็นโดนผิวหนัง หรือเข้าดวงตาให้ล้างทันทีด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก 
  • หลังใช้งานให้แยกทิ้งที่ขยะติดเชื้อ

ผลจากชุดตรวจ ATK เป็นบวกต้องทำอย่างไร

ควรติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อทำการกักตัว และแยกตนเองออกจากผู้อื่น สามารถนำผลตรวจ ATK มาติดต่อกับโรงพยาบาลเพชรเวชเพื่อรับการตรวจ RT-PCR และยืนยันผลเข้ารับการรักษาที่ Hospitel (ไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกขั้นตอน) ด้วยทีมแพทย์ที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง หากมีอาการหนักขึ้นจะถูกเคลื่อนย้ายมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเพชรเวชทันที

การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามหากรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงควรทำการกักตัวแยกจากผู้อื่นร่วมด้วย
 
 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้